Select Language 64Thailand 64the United Kingdom

2

                                                                            กมลลักษณ์ พันธเสน “สังคม – ธุรกิจ” สามารถเติบโตไปด้วยกันได้
      “การทำธุรกิจไม่จำเป็นต้องแสวงหาผลกำไรและคิดถึงแต่ตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่เราสามารถมองสังคมรอบข้าง และขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการพัฒนาไปด้วยกันได้” นี่คือเสียงสะท้อนของ กมลลักษณ์ พันธเสน หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนา หนึ่งในตัวแทนของ “ธนไพศาล” ที่ถ่ายทอดแนวคิดการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ควบคู่กับการทำงานเพื่อสังคมไปพร้อมๆ กัน
       เธอถือว่าการได้ทำงานที่ “ธนไพศาล” นับเป็นความโชคดีของเธอ บริษัทแห่งนี้ทำให้เธอได้พบประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน ด้วยความที่เธอจบปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี ชีวิตการทำงานส่วนใหญ่จะอยู่กับการทดลองในห้องปฏิบัติการ จึงไม่มีโอกาสได้ไปทำงานร่วมกับชุมชน แต่เมื่อได้มาทำงานที่ “ธนไพศาล” ชีวิตการทำงานของเธอก็เปลี่ยนไป เธอค้นพบความสุขจากการเป็น “ผู้ให้” จากงานที่เธอทำ ซึ่งเป็นโลกคู่ขนานกับชีวิตการทำงานของเธอในอดีตที่ผ่านมา...

      “ดิฉันเริ่มต้นทำงานที่ธนไพศาลตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2546 ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ห้องแล็ป แต่เนื่องจากไม่ได้เรียนสิ่งทอมาโดยตรงจึงไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องสิ่งทอเลย ไม่รู้ว่าโรงงานสิ่งทอต้องทำอะไร แล็ปสีเป็นอย่างไร สารเคมีในกระบวนการผลิตมีอะไรบ้าง ดิฉันก็อาศัยเรียนรู้และฝึกงานที่นี่ เพราะที่นี่มีองค์ความรู้ครบอยู่แล้ว ซึ่งเขาเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ทั้งที่เรียนจบสิ่งทอโดยตรง และไม่ได้จบสิ่งทอมาทำงานร่วมกัน
จากเด็กจบใหม่ที่ไม่รู้เรื่องสิ่งทอเลย เมื่อได้รับโอกาสให้ทำงานไปเรื่อยๆ ก็เกิดความชำนาญในวิชาชีพ งานของดิฉันส่วนใหญ่เป็นการทำงานวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด ซึ่งต้องยอมรับว่าในการริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ อาจต้องใช้เวลานาน และมีโอกาสผิดพลาดได้ตลอด แต่ผู้บริหารที่นี่เข้าใจลักษณะการทำงาน ไม่เคยกดดันลูกน้อง อีกทั้งยังให้การสนับสนุนทั้งความรู้และทรัพยากรอย่างเต็มที่ จึงทำให้งานที่เราคิดว่ายาก ก็สามารถทำสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จทั้งหมดเกิดจากนโยบายบริษัทที่เข้าถึง เข้าใจ และเปิดโอกาสให้ลูกน้องได้พัฒนางาน และพัฒนาตนเองอย่างเต็มที่
ทุกวันนี้นอกเหนือจากงานประจำแล้ว ดิฉันยังมีโอกาสติดตามผู้บริหารไปทำงานพัฒนาชุมชน ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและยกระดับขีดความสามารถให้กับชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลต่างๆ ซึ่งเป็นโครงการที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
     “ถึงแม้การทำงานในห้องปฏิบัติการจะเป็นงานที่ดิฉันรัก แต่พอทำทุกวันก็รู้สึกจำเจ การได้มีโอกาสออกไปทำงานนอกสถานที่ ได้เรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตใหม่ๆ มันทำให้ชีวิตการทำงานของดิฉันไม่น่าเบื่อ และที่สำคัญที่สุดคือความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง ที่สามารถนำความรู้ที่มีอยู่ในตัวไปสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้านได้ ซึ่งชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่นจะมีเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นอยู่แล้ว เราก็ไปช่วยเสริมเรื่องเทคนิคการย้อมสีใหม่ๆ หรือการสร้างลวดลายใหม่ๆ บนผืนผ้า เพื่อให้เหมาะสมกับตลาดในปัจจุบัน เป็นต้น” กมลลักษณ์ กล่าว
     เธอทิ้งท้ายว่า ถ้าเปรียบภาพ “ธนไพศาล” เป็นต้นไม้เล็กๆ ต้นหนึ่ง พนักงานทุกคนก็เสมือนเซลล์เล็กๆที่ประกอบกันเป็นต้นไม้ ทุกคนรู้หน้าที่ของตัวเองว่าคืออะไร แล้วพยายามตั้งใจทำหน้าที่ของตัวเองด้วยความรักและซื่อสัตย์ในงาน ซึ่งแต่ละคนได้พิสูจน์ให้เห็นด้วยระยะเวลาในการทำงานที่ยาวนาน ทุกวันนี้ธนไพศาลจึงเป็นต้นไม้ที่แตกกิ่งก้านสาขาแพร่ไปเรื่อยๆ มีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ มาอาศัย และให้ร่มเงากับผู้คน ไม่ได้โตอย่างเดียวดายบนเส้นทางการขับเคี่ยวทางธุรกิจที่รุนแรงอย่างเช่นทุกวันนี้

Copyright (c) Thanapaisal.com 2014. All rights reserved.
View My Stats